Barcode คืออะไร บาร์โค้ด มีแบบไหนบ้าง ชนิดของบาร์โค้ดแบบต่าง ๆ

ต้นธิติ
2 min readAug 26, 2018

ในโลกปัจจุบันเทคโนโลยีก้าวหน้าไปอย่างมาก หนึ่งในเทคโนโลยีที่สำคัญนั้นได้แก่ ระบบบ่งชี้อัตโนมัติ (Auto-ID : automatic identification) ซึ่งระบบ Auto-ID ได้เข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในแทบทุกภาคส่วนธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น การจัดการคลังสินค้า (Warehouse) , อุตสาหกรรมการผลิต (Manufacturing) , ร้านค้า (Retail) , สถานพยาบาล (Healthcare) , การขนส่ง (Logistic) เป็นต้น ระบบ Auto-ID ที่เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในโลกธุรกิจปัจจุบันได้แก่ ระบบบาร์โค้ด (Barcode System)

บาร์โค้ดคืออะไร
ระบบบาร์โค้ดหมายถึงการใช้สัญลักษณ์บาร์โค้ดบ่งชี้ไปยังข้อมูลตัวเลขหรือตัวอักษร และประยุกต์ต่อยอดโดยการนำตัวเลขหรือตัวอักษรเหล่านั้นบ่งชี้ไปยังสิ่งต่างๆ เช่น สินค้า (Product), วันหมดอายุ (Expiration date), รหัสเฉพาะสินค้า (Serial number), บุคคล (Person), URL Website เป็นต้น

บาร์โค้ดมีกี่ประเภท
1D Barcode (1 Dimension Barcode) : หมายถึงบาร์โค้ดหนึ่งมิติ ที่ใช้หลักการเข้ารหัสเลขฐานสอง (Binary codes) โดยความหนาของแท่งสีดำกับแท่งสีขาวในบาร์โค้ดจะเป็นตัวบ่งชี้ไปยังข้อมูลตัวเลขที่กำกับไว้ด้านล่างของบาร์โค้ด เทคโนโลยีเครื่องอ่านบาร์โค้ดที่เหมาะสำหรับการอ่านบาร์โค้ดหนึ่งมิติได้แก่ Laser และ Linear ลักษณะของการนำบาร์โค้ดหนึ่งมิติไปประยุกต์ใช้คือการนำข้อมูลตัวเลขในบาร์โค้ดบ่งชี้ไปยังข้อมูลของสินค้าชนิดนั้นๆ เช่น บาร์โค้ดรหัส 000001 ใช้แทนสินค้า A , บาร์โค้ดรหัส 000002 ใช้แทนสินค้า B เป็นต้น

2D Barcode (2 Dimension Barcode) : หมายถึงบาร์โค้ดสองมิติ ถูกพัฒนาขึ้นโดยใช้พื้นฐานหลักการเดียวกันกับบาร์โค้ดหนึ่งมิติ บาร์โค้ดหนึ่งมิติมีลักษณะการแทนข้อมูลที่เป็นตัวเลขเท่านั้น แต่สำหรับบาร์โค้ดสองมิติจะสามารถบ่งชี้ข้อมูลที่เป็นตัวเลขและตัวอักษรได้ นอกจากนั้นบาร์โค้ดสองมิติจะสามารถจุข้อมูลได้มากกว่าบาร์โค้ดหนึ่งมิติ รูปแบบของบาร์โค้ดสองมิติที่นิยมใช้โดยทั่วไปคือ QR-Code พัฒนาขึ้นโดยประเทศญี่ปุ่นนิยมใช้ในการเก็บข้อมูลที่มีทั้งตัวเลขและตัวอักษรรวมกันเช่น URL Website , ID Line เป็นต้น และ Data Matrix พัฒนาโดยประเทศสหรัฐอเมริกานิยมใช้ในอุตสาหกรรมอิเล็คทรอนิกส์ ที่ต้องการบาร์โค้ดขนาดเล็กและสามารถจุข้อมูลได้มาก เทคโนโลยีเครื่องอ่านบาร์โค้ดที่เหมาะสำหรับการอ่านบาร์โค้ดสองมิติได้แก่ Array Imager ที่สามารถอ่านได้ทั้งบาร์โค้ดหนึ่งมิติและบาร์โค้ดสองมิติ

เกล็ดความรู้
ในกรณีส่งออกต่างประเทศ จำเป็นจะต้องลงทะเบียนบาร์โค้ดกับ สถาบันรหัสสากล (GS1) เพื่อขอรับรหัสของบาร์โค้ดที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของประเทศและบริษัทนั้นๆ ซึ่งบาร์โค้ดที่เป็นมาตรฐานสำหรับประเทศไทยได้แก่ EAN-13 ซึ่งจะสามารถจุข้อมูลเลขได้ 13 หลัก โดย GS1 จะเป็นผู้กำหนดตัวเลขใน 8 หลักแรก ซึ่งแบ่ง 3 หลักแรกเป็นรหัสประเทศ ประเทศไทยนั้นจะเป็นรหัส 885 ตัวเลข 5 หลักถัดมาจะเป็นรหัสบริษัทที่ทาง GS1 กำหนดให้แต่ละบริษัทจะได้เลขรหัสไม่เหมือนกัน ตัวเลข 4 หลักต่อมาจะเป็นรหัสสินค้าที่แต่ละบริษัทสามารถเป็นคนกำหนดด้วยตัวเองได้ และหลักสุดท้ายจะเป็นเลขที่ถูกสร้างขึ้นโดยอัตโนมัติเพื่อเช็คว่าเลข 12 หลักแรกนั้นถูกต้อง

Originally published at www.abss.co.th.

--

--

ต้นธิติ

แหล่งเรียนรู้เทคโนโลยี